
ถ้ำนาคา บึงกาฬ ตามรอยแห่งศรัทธา
นาทีนี้น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก “ถ้ำนาคา” แหล่งท่องเที่ยวใหม่มาแรง ตั้งอยู่ในพื้นที่ อุทยานแห่งชาติภูลังกา อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ และอยู่ใกล้กับ วัดถ้ำชัยมงคล การขึ้นไปเที่ยวถ้ำ ต้อง เดินขึ้นบันไดสูงชันที่ทางอุทยานฯ จัดสร้างขึ้นไปกว่า 1,400 ขั้น ใช้เวลาเดินราว 1-1.30 ชั่วโมง
ถ้ำนาคา บึงกาฬ ตามรอยแห่งศรัทธา
แต่ระยะทางหรือความยากลำบากใดๆ ก็ไม่ทำให้ศรัทธาของคนไทยถดถอยลงเลย ทุกคนที่ไปต่างมุ่งมั่นตั้งใจ ขึ้นไปให้ถึง เพื่อชมความงดงามของธรรมชาติ ที่สรรค์สร้างรูปร่างของหินให้ เป็นเหมือนดั่งพญานาคอย่างไงอย่างงั้นเลยทีเดียว ประกอบกับความเชื่อที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของคนไทยแทบจะทุกคน เชื่อว่า พญานาค มีจริง และที่ตรงนี้ก็เป็นดั่ง ที่อยู่ของท่าน หากจิต ใจเราตั้งมั่น ขึ้นไปให้เห็นกับตา ถือว่ามีบุญบารมีล้นเหลือ
ที่มาและความเชื่อของถ้ำแห่งนี้มีอยู่ว่า ถ้ำนาคา คือ พญานาค หรือ งูยักษ์ ที่ถูกสาปให้กลายเป็นหิน โดย “อือลือราชา”หรือ “ปู่อือลือ” เทพบนสรวงสวรรค์ ที่ถูกสาปให้เป็นพญานาค ปกครองเมืองบาดาล ที่มีทั้งพญานาคและมนุษย์ อาศัยอยู่ร่วมกัน ได้สาปบริวารพญานาคของตน ให้กลายเป็นหิน ที่ถ้ำแห่งนี้ เนื่องจากทำผิดจารีต เพราะไปมีสัมพันธ์สวาทกับมนุษย์ ซึ่งก็คือ ถ้ำนาคา หรือ ถ้ำพญานาค ที่ อช.ภูลังกา แห่งนี้
ในส่วนของผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำและธรณีวิทยา ให้ข้อมูลในทางวิทยาศาสตร์ว่า “ถ้ำนาคา” จ.บึงกาฬ เกี่ยวข้องกับโลกยุคน้ำแข็ง และการยกตัวของแผ่นดิน เป็นส่วนหนึ่งของภูเขาหินทรายชื่อ “ภูลังกา” ที่อยู่ในหมวดหินยุคครีเทเซียสตอนปลาย (ประมาณ 70 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงท้าย ๆ ของโลกยุคไดโนเสาร์) หินทรายบริเวณนี้นอกจากจะมีความหนาค่อนข้างมาก และเนื้อหินมีความเป็นเนื้อเดียวกัน (homogeneous) แล้ว ยังมีความพรุนสูง ซึ่งมีผลสำคัญต่อการเกิดลวดลายคล้ายเกล็ดพญานาค
ส่วนตัวถ้ำนาคา หรือ ส่วนที่เป็นลำตัวพญานาคนั้น เกิดจากการยกตัวของแผ่นดิน (Tectonic uplift) ในภาคอีสาน ทำให้เกิด “รอยเว้าผนังถ้ำ (cave notch)” ที่มีลักษณะโค้งนูนออกมา และคั่นสลับด้วยผนังหินที่โค้งเว้าเข้าไป จากนั้นเกิดการกัดเซาะที่เป็นวัฏจักร (Cyclic Erosion) ในยุคโลกเย็นหรือ “ยุคน้ำแข็ง” กับยุคโลกร้อนในอดีตที่เกิดสลับกันเป็นวงรอบประมาณทุก ๆ 1 แสนปี โดยมีน้ำเป็นตัวการหลักในการกัดเซาะหินลงไป ตามกลุ่มรอยแตกของหินในแนวตั้ง ที่มีสองแนวตัดกันจนเป็นรูปตารางสี่เหลี่ยม
ปรากฏการณ์เหล่านี้กินเวลายาวนานมาก จนทำให้เกิดเป็นถ้ำนาคาในปัจจุบัน ที่มีลักษณะเป็นช่องแคบตัดกัน เหมือนถ้ำเขาวงกตขนาดเล็ก ที่ไม่มีหลังคาถ้ำ ทำให้ผนังแห่งนี้มีความโค้ง และเว้าสลับกัน ดูคล้ายลำตัวพญานาค หรือ งูยักษ์ ตามจินตนาการของชาวบ้านในแถบนั้น
ล่าสุดได้มีการตั้งชื่อก้อนหินขนาดใหญ่ ที่มีบางมุมมองแล้วดูคล้ายหัวงูขนาดใหญ่ อันเป็นที่มาของชื่อ “หินหัวพญานาค”นั้น เป็นส่วนของหินที่แตก (ขนาดใหญ่) และหล่นมาจากหน้าผา โดยบริเวณส่วนหัว มีลวดลายเป็นรอยแตกของผิวหน้าของหิน แบบซันแครกที่ดูคล้ายผิวหนังของงูยักษ์ไม่น้อยเลย
ปัจจุบันมีการเปิดให้ท่องเที่ยวแบบ New Normal โดยทาง อช.ภูลังกา จำกัดนักท่องเที่ยวไว้วันละ 350 คน ในส่วนของถ้ำนาคานั้น สามารถเข้าชมรอบละ ไม่เกิน 10 คน ตั้งแต่เวลา 07.00 – 14.00 น. ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติภูลังกา 08 4792 3505 หรือผ่านทาง https://www.facebook.com/PhulangkaTH/
ในการเข้าชม มีข้อปฏิบัติสำหรับนักท่องเที่ยว 16 ข้อด้วยกัน ขอให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ถ้ำนาคายังคงสภาพเดิมไปอีกนานแสนนาน
- ห้ามสัมผัสหรือแตะต้องประติมากรรมในถ้ำ เช่น หินงอก หินย้อย เสาหิน ฯลฯ
- ห้ามตี เคาะ ทำลายหินในถ้ำ
- ห้ามสูบบุหรี่ ก่อกองไฟ จุดธูปเทียน หรือกิจกรรมใดๆ ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพอากาศภายในถ้ำ
- ห้ามนำอาหารเข้าไปรับประทานในถ้ำรวมทั้งทิ้งเศษขยะมูลฝอยใดๆ
- ห้ามทำเสียงดังหรือกระทำการใดๆ ที่เป็นการรบกวนหรือก่อความรำคาญให้แก่สัตว์ รวมทั้งห้ามยิงปืน จุดประทัด และวัตถุระเบิด
- ห้ามนำสัตว์เลี้ยงหรือสัตว์พาหนะเข้าไปในถ้ำ
- ห้ามขีดเขียน ขูดลบ ขีดฆ่า ทาหรือพ่นสี หรือปิดประกาศ
- ห้ามถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะในถ้ำ
- ห้ามเก็บหรือนำสิ่งใดๆ ออกจากถ้ำ อาทิ หิน ผนึกแร่ ซากดึกดำบรรพ์ โบราณวัตถุ หรือสิ่งมีชีวิตภายในถ้ำ
- ห้ามกระทำการใดๆ อันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางน้ำ หรือสร้างสิ่งกีดขวางทางน้ำ ที่จะทำให้น้ำท่วมล้น หรือเหือดแห้ง เว้นแต่ได้รับการอนุญาตจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่
- ห้ามตั้งแคมป์พักแรมภายในถ้ำ
- ห้ามเดินออกนอกเส้นทางที่กำหนด
- ไม่แตะต้อง และ/หรือ ทำลายระบบไฟฟ้าในถ้ำ
- ไม่รบกวนแหล่งโบราณคดี หรือซากดึกดำบรรพ์ที่พบในถ้ำ
- ไม่ก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น สะพาน ทางเดิน บันได เว้นแต่การก่อสร้างเพื่ออำนวยความสะดวก/ปลอดภัยเท่าที่จำเป็น และให้มีความกลมกลืนกับธรรมชาติในถ้ำ
- ให้มีผู้นำเที่ยวท้องถิ่นที่ผ่านการฝึกอบรมตามมาตรฐาน Local Cave Guide และปฎิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด
ขอขอบคุณข้อมูล :สำนักอุทยานแห่งชาติ – National Parks of Thailand
ภาพ :ศรัทธา ลาภวัฒนเจริญ
∴ ∴ ∴ ∴ ∴ ∴ ∴ ∴
สรุป
เรื่องราวความเชื่อของ ถ้ำนาคา เป็นเพียงความเชื่อและจินตนาการส่วนบุคคล ขอให้ทุกคนจงใช้วิจารณญาณในการเสพข่าว ใดๆ ก็ตามไม่เชื่อจงอย่าลบหลู่นะจ๊ะ ครั้งหน้าอีวุ่นจะมีเรื่องอะไรมาแชร์กันอีก รอติดตามกันได้เลย
เมาท์มอยข่าว ชอบเรื่องหวย ลุ้นเลขรวย เปิดเว็บไซต์อีวุ่น
อีวุ่นขอเมาท์ ↔ อีวุ่นเช็กดวง ↔ อีวุ่นหาเรื่อง ↔ อีวุ่นคัดเลข ↔ อีวุ่นลุ้นหวย
⇒อ่านต่อเพิ่มเติม